วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อาการนอนกรนในเด็ก(ตอน4)

*** อาการนอนกรนในเด็ก(ตอน4) ***
สวัสดีบ่ายวันศุกร์ครับ เป็นอย่างไรบ้างครับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หมอเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายๆท่านคงมีแผนการพาเจ้าตัวน้อยไปเที่ยวยังสถานที่ต่างๆในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้นะครับ วันนี้เรามาดูกันครับว่าการรักษาอาการนอนกรนในเด็กมีอะไรบ้าง...

ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการนอนกรนตั้งแต่3คืนต่อสัปดาห์ขึ้นไปและมีอาการแสดงที่บ่งชี้ว่าน่าจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นควรได้รับการรักษาและติดตามอาการทุกราย

### การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้แก่ ###
- การรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในกรณีที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์โต

- การรักษาโดยการใช้ยา
1. ยาพ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์ ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์ได้ หรือหลังผ่าตัดแล้วยังมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเหลืออยู่ในระดับรุนแรงน้อย
2. การใช้ยา Montelukast อาจพิจารณายานี้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง

- การรักษาโดยการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่องใช้ในกรณีผู้ป่วยที่หลังผ่าตัดแล้วยังมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเหลืออยู่, ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่สัมพันธ์กับภาวะอ้วน โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และโครงสร้างใบหน้าผิดปกติที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆได้สำเร็จ, ผู้ป่วยที่ปฏิเสธหรือไม่สามารถผ่าตัดได้ เป็นต้น

- การรักษาอื่นๆเช่น การให้ออกซิเจนขณะหลับ, การใช้ oral appliance, rapid maxillary expansion

อ้างอิงจาก "แนวทางการวินิจฉัยและการรักษาเด็กที่นอนกรนและมีต่อมทอนซิลและหรืออะดีนอยด์โต"
เครดิตภาพหลานหมอเองครับ

ติดตามสาระความรู้ภูมิแพ้เด็กแบบครบเครื่องได้ที่ : https://www.facebook.com/dearallergy/
# ครบเครื่องเรื่องภูมิแพ้เด็กกับหมอเดียร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น