วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อุบัติภัยช่วงปิดเทอม(ตอน1)

*** อุบัติภัยช่วงปิดเทอม (ตอน1) ***

สวัสดีครับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน หมอเชื่อว่าขณะนี้หลายๆครอบครัวคงกำลังวางแผนในการพาลูกหลานไปเที่ยวช่วงปิดเทอมกันแล้วใช่ไหมครับ วันนี้หมอมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติในช่วงปิดเทอมมาฝากกันครับ

### อุบัติภัยช่วงปิดเทอมพบได้บ่อยแค่ไหน ??? ###
จากการสำรวจและศึกษา ในปี 2539 โดยใช้ฐานข้อมูลของ กระทรวงสาธารณสุขและปี 2542 จากใบมรณบัตรทั่วประเทศพบว่า เด็กไทยตายจากอุบัติเหตุถึงปีละ 3,000-4,000 คน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงเด็กที่ได้รับบาดเจ็บ และพิการจากอุบัติเหตุ และในจำนวนเด็กที่เสียชีวิต ข้อมูลระบุว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งประมาณปีละ 1,400 คน การจราจรเป็นสาเหตุอันดับสอง ที่ทำให้เด็กเสียชีวิตปีละ 900-1,200 คน และส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้ชาย
.
เมื่อแยกย่อยลงไปจะพบว่า การเสียชีวิตจากการจมน้ำจะมีอัตราสูงในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 โดยมีเด็กจมน้ำตายราว 1,500 รายต่อปี หรือประมาณ 288 รายต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 47 ของการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
.
อันดับที่สองเกิดจากอุบัติเหตุการจราจรซึ่งจะคร่าชีวิตเด็กที่อายุ 7-15 ปีมากที่สุด เด็กเสียชีวิตจากการจราจรจะตกราว 770 รายต่อปี เฉลี่ย 65 คนต่อเดือน หรือร้อยละ 22 ของการตายของเด็กจากอุบัติเหตุทั้งหมด

### การจมน้ำสาเหตุอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตเด็กไทย ###
การจมน้ำของเด็กจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
.
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มเด็กเล็กที่เกือบครึ่งของเด็กที่เสียชีวิตเกิดจากพ่อแม่เผลอไปทำธุระส่วนตัวช่วงสั้น ๆ เช่น พ่อแม่ไปเข้าห้องน้ำแล้วเด็กเดินหรือคลานไปเล่นกะละมังล้างจาน เป็นต้น
.
กลุ่มที่สอง เด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อยที่ชอบออกไปวิ่งเล่นรอบๆบ้านแล้วเกิดตกลงไปในสระหรือบ่อน้ำ
.
กลุ่มที่สาม เด็กที่เกิดอยากเล่นน้ำกับเพื่อนๆแต่ว่ายน้ำไม่เป็นหรือว่ายไม่

### การป้องกันการจมน้ำในเด็ก ###

กลุ่มเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
- การจัดให้สิ่งแวดล้อมในบ้านและบริเวณรอบ บ้านปลอดภัยจากการจมน้ำเช่น การกำจัดแหล่งน้ำาท่ีไม่จำเป็นในบ้าน
- แยกเด็กจากแหล่งน้ำ
- สร้างความ ตระหนักในความเสี่ยงแก่ผู้ดูแลเด็กเพื่อให้ผู้ดูแลเด็ก ให้การดูแลเด็กในวัยต่ำกว่า 3 ปีในระยะมองเห็นและ คว้าถึงได้ตลอดเวลา (arm reach or touch supervi- sion) และให้การดูแลเด็กในวัย 3-6 ปีในระยะมองเห็น และเข้าถึงได้
- การสื่อความรู้สู่พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กท้ังโดยตรงโดยบุคลากรสาธารณสุขหรืออื่นๆ รวมท้ังผ่าน สื่อสาธารณะท่ีเข้าถึงครอบครัว เช่น โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต

กลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี
- ฝึกทักษะความปลอดภัยทางน้ำ โดยเน้นทักษะชีวิตเพื่อความปลอดภัยทางน้ำ ได้แก่ รู้จักและหลีกเลี่ยงการเล่นหรือการเข้าใกล้แหล่งน้ำที่มีความเสี่ยง  ลอยตัวได้ในระยะเวลาสั้นและว่ายน้ำระยะสั้นได้
- ฝึกทักษะการช่วยผู้จมน้ำอย่างถูกวิธีโม่ต้องกระโดดลงไปในน้ำ ได้แก่ การตะโกนขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ โยนสิ่งของลอยน้ำให้ผู้จมน้ำเกาะ หรือยื่นอปุกรณ์ที่มีความยาวให้เกาะแล้วดึวช่วย
- ใช้เสื้อชูชีพเสมอเมื่อจำเป็นต้องเดินทางหรือต้องทำกิจกรรมใกล้แหล่งน้ำ
- ชุมชนจะต้องพัฒนาพื้นที่เล่นของเด็กที่มีความปลอดภัยในชุมชน รวมทั้งแยกเด็กออกจากแหล่งน้ำเช่น การกั้นรั้วบ่อน้ำใช้หรือสระน้ำในชุมชน เป็นต้น

เป็นอย่างไรครับความรู้เรื่องการป้องกันการจมน้ำในวันนี้ ในตอนหน้าเรามาดูกันครับว่าเราจะป้องกันการเกิดอุบัติภัยในช่วงปิดเทอมตอนหน้าจะเป็นอย่างไร อย่าลืมติดตามกันนะครับ 😊😊😊

อ้างอิงจาก "แนวทางสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บ"
เครดิตภาพ : http://www.thaincd.com/drowning/information.php

ติดตามสาระความรู้ภูมิแพ้เด็กแบบครบเครื่องได้ที่ : https://www.facebook.com/dearallergy/
#ครบเครื่องเรื่องภูมิแพ้เด็กกับหมอเดียร์



วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อาการนอนกรนในเด็ก(ตอน4)

*** อาการนอนกรนในเด็ก(ตอน4) ***
สวัสดีบ่ายวันศุกร์ครับ เป็นอย่างไรบ้างครับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หมอเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายๆท่านคงมีแผนการพาเจ้าตัวน้อยไปเที่ยวยังสถานที่ต่างๆในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้นะครับ วันนี้เรามาดูกันครับว่าการรักษาอาการนอนกรนในเด็กมีอะไรบ้าง...

ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการนอนกรนตั้งแต่3คืนต่อสัปดาห์ขึ้นไปและมีอาการแสดงที่บ่งชี้ว่าน่าจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นควรได้รับการรักษาและติดตามอาการทุกราย

### การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้แก่ ###
- การรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในกรณีที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์โต

- การรักษาโดยการใช้ยา
1. ยาพ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์ ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์ได้ หรือหลังผ่าตัดแล้วยังมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเหลืออยู่ในระดับรุนแรงน้อย
2. การใช้ยา Montelukast อาจพิจารณายานี้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง

- การรักษาโดยการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่องใช้ในกรณีผู้ป่วยที่หลังผ่าตัดแล้วยังมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเหลืออยู่, ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่สัมพันธ์กับภาวะอ้วน โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และโครงสร้างใบหน้าผิดปกติที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆได้สำเร็จ, ผู้ป่วยที่ปฏิเสธหรือไม่สามารถผ่าตัดได้ เป็นต้น

- การรักษาอื่นๆเช่น การให้ออกซิเจนขณะหลับ, การใช้ oral appliance, rapid maxillary expansion

อ้างอิงจาก "แนวทางการวินิจฉัยและการรักษาเด็กที่นอนกรนและมีต่อมทอนซิลและหรืออะดีนอยด์โต"
เครดิตภาพหลานหมอเองครับ

ติดตามสาระความรู้ภูมิแพ้เด็กแบบครบเครื่องได้ที่ : https://www.facebook.com/dearallergy/
# ครบเครื่องเรื่องภูมิแพ้เด็กกับหมอเดียร์

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อาการนอนกรนในเด็ก(ตอน3)

*** อาการนอนกรนในเด็ก(ตอน3) ***
สวัสดีครับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน วันนี้หมอมีความรู้เรื่องอาการนอนกรนในเด็ก ตอนที่ 3 มาฝาก เรามาดูกันครับว่าจะมีเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้อย่างไร

เครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัย
- การใช้แบบสอบถาม เป็นแบบสอบถามของต่างประเทศปัจจุบันได้รับการแปลมาเป็นภาษาไทยมีจำนวนทั้งหมด 18 ข้อ แล้วนำมาคิดเป็นคะแนน แบบสอบถามนี้ช่วยในการในการประเมินความรุนแรงและติดตามอาการ

- การถ่ายภาพรังสี เพื่อช่วยประเมินขนาดของต่อมอดีนอยด์ ดูลักษณะของโครงหน้าและกระโหลกศีรษะ

- การตรวจค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนขณะหลับ ใช้ในการคัดกรองการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น และควรได้รับการรักษาเรื่องการติดเชื้อและภูมิแพ้ก่อน

- การตรวจการนอนหลับชนิดเต็มรูปแบบ เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐานในการวิจัยการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นแต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ

เป็นอย่างไรบ้างครับจะเห็นได้ว่าเรามีเครื่องมือมากมายที่ช่วยในการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น แต่อย่างไรก็ดีประวัติและการตรวจร่างกายก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการวินิจฉัยเช่นกัน

อ้างอิงจาก "แนวทางการวินิจฉัยและการรักษาเด็กที่นอนกรนและหรืออะดีนอยด์โต"
เครดิตภาพ : http://en.m.wikipedia.org/wiki/Sleep_medicine

ติดตามสาระความรู้ภูมิแพ้เด็กแบบครบเครื่องได้ที่ : https://www.facebook.com/dearallergy/
# ครบเครื่องเรื่องภูมิแพ้เด็กกับหมอเดียร์

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อาการนอนกรนในเด็ก(ตอน2)


*** อาการนอนกรนในเด็ก(ตอน2)***
ในตอนนี้จะเป็นตอนต่อจากคราวที่แล้ว เรามาดูกันครับว่าจะสามารถวินิจฉัยอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้อย่างไร

ประวัติที่สำคัญได้แก่
- นอนกรนบ่อยกว่า 3 คืน/สัปดาห์
- หายใจแรงกว่าปกติในขณะหลับ
- มีเสียงเงียบเหมือนหยุดหายใจสักพักแล้วตามมาด้วยเสียงหายใจดังเฮือกๆ
- ปัสสาวะรดที่นอน
- นอนในท่านั่งหลับหรือแหงนคอขึ้น
- ริมฝีปากเขียวคล้ำ
- ปวดหัวเวลาตื่นนอน
- ง่วงเวลากลางวัน
- มีปัญญาการเรียนหรือพฤติกรรม

การตรวจร่างกายที่สำคัญได้แก่
- น้ำหนักน้อยหรืออ้วนกว่าเกณฑ์
- ต่อมทอนซิลโต
- คางเล็กหรือร่น
- เพดานปากโ้ค้งสูง
- การเจริญเติบโตช้ากว่าเกณฑ์
- ความดันโลหิตสูง

เป็นอย่างไรบ้างครับจะเห็นได้ว่าเรามีข้อสังเกตหลายอย่างที่ช่วยในการวินิจฉัย ในตอนหน้าเรามาดูกันครับว่าจะมีเครื่องมือหรือการส่งตรวจอะไรบ้างที่ช่วยในการวินิจฉัยอย่าลืมติดตามนะคร้าบ

อ้างอิงจาก "แนวทางการวินิจฉัยและรักษาเด็กที่นอนกรนและมีต่อมทอนซิลและหรืออะดินอยด์โต"
เครดิตภาพ : http://www.professionsleepclinic.com/images/A17-article-20111222-124428.jpg

ติดตามสาระความรู้ภูมิแพ้เด็กแบบครบเครื่องได้ที่ : https://www.facebook.com/dearallergy/
# ครบเครื่องเรื่องภูมิแพ้เด็กกับหมอเดียร์

วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อาการนอนกรนในเด็ก(ตอน1)


*** อาการนอนกรนในเด็ก(ตอน1) ***
สวัสดีวันหยุดยาวครับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน เมื่อวันก่อนหมอได้ตรวจคนไข้เด็กรายหนึ่งที่คุณแม่พามาปรึกษาเรื่องนอนกรนเสียงดังและมีหยุดหายใจเป็นพักๆตอนหลับด้วย ดังนั้นวันนี้หมอเลยอยากนำความรู้เรื่องนอนกรนในเด็กซึ่งเมื่อเกิดขึ้นกับลูกๆของเราแล้วย่อมทำให้คุณพ่อคุณแม่วิตกกังวลไม่มากก็น้อยมาฝากกัน มาดูกันครับว่าอาการนอนกรนคืออะไร และมีสาเหตุจากอะไรบ้าง

### อาการนอนกรนคืออะไร??? ###
- อาการนอนกรนเป็นเสียงที่เกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้นอาจเกิดได้จากจมูก ช่องคอ โคนลิ้น กล่องเสียง เกิดในขณะนอนนอนหลับ

- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นคือ ภาวะที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนต้นที่เกิดเป็นช่วงๆในขณะนอนหลับ ทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดและภาวะคาร์บอยไดออปไซด์คั่งในเลือดมีผลทำให้คุณภาพการนอนลดลง

### อาการนอนกรนเกิดจากอะไรบ้าง??? ###
- ต่อมทอนซิลและหนือต่อมอะดีนอยด์
- ภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้
- ภาวะอ้วน
- โครงหน้าผิดปกติเช่น คางสั้น
- โรคทางสมองและกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการหายใจ

ในตอนหน้าเรามาดูกันครับว่าการวินิจฉัยอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นจะทำได้อย่างไร อย่าลืมติดตามนะครับ...

เครดิตภาพ : http://www.waystostopsnoringreviews.com/wp-content/uploads/2015/11/stop-snoring-in-children.jpg

ติดตามสาระความรู้ภูมิแพ้เด็กแบบครบเครื่องได้ที่ : https://www.facebook.com/dearallergy/
# ครบเครื่องเรื่องภูมิแพ้เด็กกับหมอเดียร์

วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อาการน้ำมูกไหลเรื้อรัง

*** อาการน้ำมูกไหลเรื้อรัง ***

อรุณสวัสดิ์ครับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน เช้านี้หมอมีความรู้เกี่ยวอาการน้ำมูกไหลเรื้อรังซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยมากในช่วงนี้มาฝากครับ

### อาการน้ำมูกไหลเรื้องรังคืออะไร ??? ###
อาการน้ำมูกไหลเรื้อรังคือการที่มีน้ำมูกอยู่ตลอดเวลามีน้ำมูกไหลต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อยวันละ 30 นาที นานกว่า 2 สัปดาห์

### สาเหตุของอาการน้ำมูกไหลเรื้อรังมีอะไรบ้าง ??? ###

- ความผิดปกติของจมูกที่ทำให้การระบายน้ำมูกไม่ดีเช่นผนังกั้นจมูกเอียงหรือริดสีดวงจมูก

- การติดเชื้อที่พบบ่อยเช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ไซนัสเรื้อรัง วัณโรคที่จมูก

-ภูมิแพ้ที่จมูก

-สิ่งแปลกปลอมในจมูก

-การใช้ยาบางประเภทเช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางประเภท ยารักษาโรคซึมเศร้า โคเคน

-เนื้องอกบริเวณจมูก

### การวินิจฉัยอาการน้ำมูกไหลทำได้อย่างไร ??? ###

ประวัติที่มักถามได้แก่
- อาการอื่นเช่น ไข้ คันจมูก จาม ผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ไอ
- สิ่งแวดล้อมเช่น คนป่วยในบ้าน สัตว์เลี้ยง สภาพแวดล้อมในบ้าน
- ประวัติการใช้ยาเช่น ยาหยอดจมูก

การตรวจร่างกายที่ต้องมองหา
- ลักษณะจมูก เยื่อบุจมูก ผนังกั้นจมูก สิ่งแปลกปลอมที่ติดในรูจมูก
- อาการของภูมิแพ้เช่น รอยคล้ำใต้ตา ผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้
- การส่องคอดูว่ามีน้ำมูกหลังโพรงจมูกไหลลงคอหรือไม่ ต่อมทอนซิลเป็นอย่างไร

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การตรวจย้อมน้ำมูก
- การตรวจทางด้านภูมิแพ้ไม่ว่าจะเป็นการเจาะเลือดหรือการทดสอบทางผิวหนัง
- การถ่ายภาพรังสีไซนัส
- การตรวจอื่นๆเช่น การส่องกล้องทางโพรงจมูก

### การรักษาอาการน้ำมูกไหลเรื้อรังทำได้อย่างไร ###

- การรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุเช่น การนำสิ่งแปลกปลอมออกกรณีที่ตรวจพบสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก การผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างจมูกที่ผิดปกติ การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อ การใช้ยารักษาภูมิแพ้กรณีที่เป็นภูมิแพ้

- การรักษาอาการน้ำมูกไหล แน่นจมูกเช่น การใช้ยาแก้คัดจมูก(pseudoephedrine) การใช้ยากลุ่ม anti-histamine
การล้างจมูก

เป็นอย่างไรบ้างครับกับสาระน่ารู้ที่นำมาฝากกันในวันนี้ อย่าลืมติดตามกันนะครับว่าในตอนหน้าหมอจะมีความรู้อะไรดีๆมาฝากกัน

เครดิตภาพ : https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEgHt0CjEzmHnU1lX8g0DQAy9C6QQ1HmApoOVuBdIX6N-gy_wWkOnnLb4W2d8lX9MEB30TX9G7EHReZVsKR7zSPQJ03-ZO2zTx5wv4rpWFbWdzK48bHqmLXZaCB0IHYgqdDEiZg3TxJXTQKz/s1600/baby-runny-nose-280x280.jpg

ติดตามสาระความรู้ภูมิแพ้เด็กแบบครบเครื่องได้ที่ : https://www.facebook.com/dearallergy/
# ครบเครื่องเรื่องภูมิแพ้เด็กกับหมอเดียร์


วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

หวัดเรื้อรังหรือภูมิแพ้อากาศ




**** หวัดเรื้อรังหรือภูมิแพ้อากาศ ***
สวัสดีคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านครับ จะเห็นได้ว่าช่วงนี้อากาศแปรปรวนมากเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวขนาดหมอเองยังปรับตัวไม่ทันเลยครับ ดังนั้นการเจ็บป่วยในช่วงนี้คงไม่พ้นเรื่องหวัด น้ำมูกไหล ไอ เสมหะที่เป็นครั้งหนึ่งก็นานแสนนานแถมยังเป็นซ้ำบ่อยๆจนคุณพ่อคุณแม่บางท่านก็มีข้อสงสัยว่าตกลงลูกเราจะเป็นหวัดหรือเป็นภูมิแพ้กันแน่ วันนี้หมอเลยมีความรู้ดีๆเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างหวัดเรื้อรังกับภูมิแพ้อากาศมาฝากครับ

                ในช่วงนี้การเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยในลูกน้อยคงหนีไม่พ้นโรคหวัดซึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กจะเป็นไข้หวัดบ่อยกว่าผู้ใหญ่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาจจะเป็นไข้หวัดถึง ปีละ 4-8 ครั้ง โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียนใหม่มักจะเป็นหวัดมากขึ้นเนื่องจากได้รับเชื้อจากเด็กคนที่เป็นหวัดจากการหายใจหรือสัมผัสเอาละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยเข้าไป
โรคหวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิดซึ่งมักจะป็นในช่วงเปลี่ยนอากาศ เช่น หน้าฝน หน้าหนาว เด็กจะมีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ส่วนใหญ่เป็นอยู่ประมาณ 5-7 วันจะหายไปได้เอง  แต่ในความเป็นจริงปัญหาของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ลูกน้อยป่วยเป็นโรคหวัดพบว่าอาการของลูกน้อยเป็นนานหลายสัปดาห์หรือเป็นบ่อยแทบจะทุกสัปดาห์ด้วยซ้ำซึ่งอาการที่พบในลูกน้อยได้แก่ อาการหายใจครืดคราด แน่นคัดจมูก น้ำมูกไหลบ่อย ไอบ่อย เสมหะในลำคอ หรือหายใจลำบาก เป็นต้น ซึ่งอาการหวัดเรื้อรังหรือเป็นบ่อยๆซ้ำๆนั้นอาจจะต้องคิดถึงโรคภูมิแพ้ไว้ด้วยซึ่งจะมีอาการคล้ายกับโรคหวัดที่เป็นนานและบ่อยกว่า

### โรคหวัดเรื้อรังกับหวัดภูมิแพ้ต่างกันอย่างไร ###
 โรคหวัดเรื้อรังกับภูมิแพ้จะมีอาการคล้ายกันได้แก่ คัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล ไอ แต่ภูมิแพ้อาการอาจเป็นบ่อยเดือนละ 2- 3 ครั้ง อาจมีอาการภูมิแพ้อื่นๆได้แก่ คันตา เคืองตา น้ำตาไหล มีอาหารหายใจเหนื่อยหรือหอบ เป็นต้น การสังเกตว่าหลังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้แล้วเกิดอาการหรือการที่ประวัติคนในครอบครัวโดยเฉพาะคุณพ่อหรือคุณแม่ที่เป็นภูมิแพ้ก็จะช่วยแยกระหว่างหวัดกับภูมิแพ้ได้

### จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นหวัดภูมิแพ้ หรือ หวัดเรื้อรัง ###
                 การพิจารณาแยกว่าอาการของลูกน้อยจะเป็นเพียงหวัดหรือภูมิแพ้นั้นอาจสังเกตได้จากน้ำมูกจากหวัดมักมีลักษณะข้น มักมีตัวร้อนหรือไข้ได้ มีอาการเจ็บคอ หรือ แสบคอ ในขณะที่ภูมิแพ้จะมีน้ำมูกใสมักเป็นตอนเช้าหรือเวลานนอน ไม่มีตัวร้อนหรือไข้ อาจมีอาการคันคอ มักเป็น ๆ หาย ๆ  หลังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้แล้วจะเกิดอาการในไม่ช้า

### คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างไรเพื่อไม่ให้ลูกน้อยเป็นหวัดเรื้อรัง ###
                การดูแลป้องกันลูกน้อยไม่ให้เป็นหวัดเรื้อรังสามารถทำได้โดยการให้ลูกน้อยได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบทั้ง 5 หมู่  การได้พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ  ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ร่วมไปกับการให้เด็กได้รับวัคซีนครบถ้วนตามวัย  การให้เด็กได้เล่น ได้สูดอากาศที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่บริสุทธิ์

เครดิตภาพ : http://taamkru.com/media/images/articlepics/ไข้หวัดในเด็กเล็ก-ตอนที่2-01.jpg

ติดตามสาระความรู้ภูมิแพ้เด็กแบบครบเครื่องได้ที่ : https://www.facebook.com/dearallergy/
# ครบเครื่องเรื่องภูมิแพ้เด็กกับหมอเดียร์